www.facebook.com/burmese

พม่าเที่ยวได้ทั้งประเทศ อ่างสบายใจ มาตรฐานบริการ ไทยแลนด์

14 ม.ค. 2560

อาคารชิโนโปรตุกีส ทรงคุณค่าที่เมืองมะริด

อาคารชิโนโปรตุกีส เมืองมะริด 
หากคุณเดินทอดน่องอย่างสบาย ๆ จากตลาดเซ้กแหง่ ไปร้านขายมุกขึ้นชื่อในเมืองมะริด ณ มุมถนนทางสี่แยก (ที่ไม่มีไฟแดง) คุณจะสะดุดตากับตึกเก่ารูปทรงโบราณที่ตั้งตระหง่านเป็นทรงตัวแอลโค้งไปกับถนนทั้งสองด้าน ขณะที่มุมศูนย์กลางของตึกอยู่ตรงกับสี่แยกพอดี ตึกนี้ยังมีคนอยู่อาศัย เป็นคนจีนตกทอดมาหลายชั่วคน แม้ชั้นล่างของตึกจะดูเก่าซอมซ่อไปบ้าง แต่ชั้นสองและชั้นสามยังมีคงสภาพดี และดูมีสีสัน คงมีคุณค่าน้อยไปกว่าประวัติและตระกูลของมันที่มีสาแหรกเป็น "ชิโนโปรตุกีส" ตึกโบราณกว่าสองร้อยปีที่ตระหง่านอยู่อย่างทรนงในเมืองมะริดประเทศเมียนมา แยกตัวห่างจากบรรดาญาติพี่น้องตึกชิโนโปรตุกีส ในเมืองมะละกา เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่เมืองภูเก็ต ประเทศไทย


“ชิโนโปรตุกีส” สถาปัตยกรรมตะวันตกที่ถูกตัดแต่ง ตามคคิของชาวจีน
       
       สถาปัตยกรรม “ชิโนโปรตุกีส” (Sino-Portugyese) ถือกำเนิดขึ้นในดินแดนแหลมมลายูในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2054 ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วงเวลาที่ชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่นั้น ก็ได้สร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยไว้ ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมตามความรู้และประสบการณ์ของตน ทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมเหล่านั้นมีรูปแบบแนวตะวันตก 
  ในขณะเดียวกันนั้นเองได้ให้ช่างชาวจีนนำแบบแปลนของบ้านเรือนนั้นไปดำเนินการก่อสร้าง ช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน เกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชน 3 เชื้อชาติ อันได้แก่โปรตุเกส จีน และมาเลย์ ในดินแดนแหลมมลายูตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
       

       ต่อมาเมื่อชาวดัตช์และอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารดังกล่าว โดยดัดแปลงและสอดแทรกรูปแบบ รวมไปถึงลวดลายต่างๆ เพิ่มเติมลงไปในการก่อสร้างตามแบบของตน และก็มีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ว่า สถาปัตยกรรม “ชิโนโปรตุกีส”



       

       คำว่า “ชิโน” หมายถึงคนจีน และคำว่า “โปรตุกีส” หมายถึง โปรตุเกส แม้ว่าอังกฤษและดัตช์จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตาม ซึ่งการก่อสร้างบ้านเรือนในรูปแบบนี้ได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่างๆ ในแหลมมลายู สามารถพบเห็นได้หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองมะละกา เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ หรือมาเก๊า รวมไปถึงประเทศไทยของเราด้วย

หน้าต่างทรงโค้ง ตลอดทางเดินรอบอาคาร เอกลักษณ์เฉพาะ "ชิโนโปรตุกีส"
ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบจีน-โปรตุเกสคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปและศิลปะจีน กล่าวคือ “สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม” หรือ “อาคารแบบโคโลเนียล” (Colonial Style) ถ้าเป็นอาคารสองชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย (shop-house or semi-residential) จะมีด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมีช่องโค้ง (arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า “อาเขต” (arcade) หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “หง่อคาขี่” ซึ่งมีความหมายว่า ทางเดินกว้างห้าฟุต ในภาษามาลายูแปลว่าทางเดินเท้า กากี่แปลว่าเท้า นอกจากอาเขตแล้ว อาคารแบบโคโลเนียลมีการนำลวดลายศิลปะตะวันตกแบบกรีก โรมัน หรือเรียกว่า “สมัยคลาสสิก” เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบโยนิก หรือไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไม้ขนาดใหญ่ประดับ) เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการบางท่านอาจเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่า “นีโอคลาสสิก
สิ่งที่ผสมผสานศิลปะจีนคือ ลวดลายการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำหรือนูนสูงทำด้วยปูนปั้นระบายสีของช่างฝีมือจีนประดับอยู่บนโครงสร้างอาคารแบบโปรตุเกส บานประตูหน้าต่าง ตลอดจนการตกแต่งภายในที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบจีน
ที่เมืองมะริด ก็เป็นอีกหนึ่งสถาน ที่มีตึกเก่าสมัยโบราณ ที่ยังคงถูกใช้งานตามหน้าที่ของมันอยุ่ถึงปัจจุบัน บ้างเก่าผุพัง เสียหายไปตามกาลสมัย บ้างหลบซ่อนตัวอยู่หลังกำแพงและป่า รอวันเวลาถูกรื้อทิ้ง เพื่อทดแทนด้วยตึกอาคารสมัยรุ่นใหม่ ... ตามสมัยทุนนิยมต่อไป

ติดต่อท่องเที่ยวเมืองมะริด 062-332-7229 

Credit ข้อมูล
www.manager.co.th

wikepedia "ชิโนโปรตุกีส"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น